ภาษีมูลค่าเพิ่ม รายรับค่าสอบบัญชี

  • Posted on: 17 November 2015
  • By: nid

สำหรับบริษัทที่ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี อาจมีคำถามว่าหากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทแล้วต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ แล้วกรณีที่มีการว่าจ้างผู้สอบบัญชีข้างนอกตรวจสอบและลงนามในงบการเงินให้กับลูกค้าของบริษัทจะถือว่าเป็นรายได้จากการตรวจสอบบัญชีหรือไม่

ศึกษาคำตอบจากข้อหารือของสรรพากรได้ ดังนี้

เลขที่หนังสือ กค 0811/พ./5395

วันที่ 18 มิถุนายน 2545

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายรับค่าสอบบัญชี

ข้อกฎหมาย มาตรา 81(1)(ฌ)

ข้อหารือ บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างทำบัญชี วางระบบบัญชี ให้บริการคำปรึกษาด้านบัญชี การจัดการ การลงทุน และการตรวจสอบบัญชี มีรายได้ทั้งในส่วนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการดำเนินการสอบบัญชีจะมีทั้งส่วนที่บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง และส่วนที่ ต้องว่าจ้างช่วงบุคคลหรือบริษัทอื่นซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามาเป็น ผู้ตรวจบัญชีและลงนามรับรองงบการเงินให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินเป็นค่าบริการสอบบัญชีจากลูกค้าทั้งจำนวน โดยถือว่าการสอบบัญชีเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้สอบบัญชีทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทอื่นที่รับจ้างช่วง ถือว่าเป็นกิจการที่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

แนววินิจฉัย บริษัทฯ ให้บริการสอบบัญชีไม่ว่าจะได้ดำเนินการเองหรือได้ว่าจ้างช่วงให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการบางขั้นตอนของการสอบบัญชี จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นที่ให้บริการรับสอบบัญชีช่วงต่อจากบริษัทฯ ก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรด้วยเช่นกัน

เลขตู้ 65/31535

ขยายความ มาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 81 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการ ดังต่อไปนี้

(ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุม การประกอบวิชาชีพอิสระนั้น

ที่มา: ข้อหารือของสรรพากร