การฝากขายสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (Consignment and VAT)

  • Posted on: 15 October 2015
  • By: nid

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องอาศัยการฝากขายสินค้ากับร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ที่มีชื่อเสียง ทำเลดี ในการขายและกระจายสินค้าเพื่อความสะดวกในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทางด้านบัญชีและภาษีจะมีความแตกต่างกันในเรื่องการรับรู้รายได้ สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการฝากขายสินค้ามีดังนี้

1. ด้านภาษี บริษัทจะมีภาระภาษีเกิดเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้รับฝากขาย ดังนั้นผู้ฝากขายจะต้องออกใบกำกับภาษีและยื่นภาษีมูลค่าภายใน 15 วันหลังจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี ซึ่งผู้ฝากขายจะต้องรับภาระภาษีขายไปก่อนที่จะมีการขายสินค้าออกไปจริง

2.ด้านบัญชี บริษัทจะรับรู้รายได้จากการขายก็ต่อเมื่อผู้รับฝากขายได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อแล้ว

สรรพากรได้มีข้อหารือเกี่ยวกับเรื่องการฝากขายสินค้า ดังนี้

เลขที่หนังสือ
: กค 0702/7981

วันที่
: 27 ตุลาคม 2557

เรื่อง
: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการฝากขายสินค้า

ข้อกฎหมาย
: มาตรา 78(3) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
ชมรมอุตสาหกรรม ล. (ชมรมฯ) ขอให้จังหวัดปทุมธานีส่งข้อเสนอของชมรมฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแก้กฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติที่เป็นธรรม ในการฝากขายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อ กรณีที่ผู้ผลิตสินค้านำสินค้าไปฝากขายได้รับความเดือดร้อนในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อก่อนที่จะได้รับเงินค่าสินค้าหรือค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
๑.ผู้ผลิตสินค้าที่นำสินค้าไปฝากขาย เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๗.๐ เมื่อนำสินค้าไปฝากขาย ณ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จะต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมส่งของไปให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน
๒.ในการออกใบกำกับภาษีให้แก่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิตสินค้าจะต้องรับภาระจ่ายเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวก่อน ทั้งๆ ที่ยังมิได้รับเงินค่าสินค้าแต่อย่างใด
๓.ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อได้รับสินค้าพร้อมใบกำกับภาษี ห้างฯ สามารถนำไปเครดิตภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันที แม้จะยังมิได้มีการขายสินค้าหรือชำระค่าสินค้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตสินค้าจึงขอความเป็นธรรมให้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก โดยให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับให้ผู้ผลิตสินค้าก่อน ส่วนค่าสินค้าก็ให้ทยอยชำระเมื่อได้มีการขายสินค้าจริง

แนววินิจฉัย
กรณีผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำสินค้าไปฝากขาย ณ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อผู้ผลิตสินค้าส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา ๗๗/๑ (๘) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลคาเพิ่มตามมาตรา ๗๗/๒ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๗๘ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ผลิตสินค้าจะทำสัญญาแต่งตั้งให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อเป็นตัวแทนตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า ตามมาตรา ๗๘ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยที่แนบ) ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตสินค้า จึงจะเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา ๗๘ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้
: 77/39351

ที่มา: www.rd.go.th